วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

INCOTERMS

INCOTERMS
   หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมข้อตกลงทางการค้าต่าง ๆ ที่ใช้แพร่หลายทั่วโลก แล้วจัดทำคำจำกัดความให้เป็นแนวทางเดียวกัน จัดหมวดหมู่โดยเรียกว่า INCOTERMS คือ หอการค้านานาชาติ (International Chamber of Commerce) ซึ่งเป็นสถาบันของเอกชน โดยเริ่มศึกษาข้อตกลงดังกล่าวตั้งแต่ ค.ศ. 1921 พิมพ์ INCOTERMS เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1936 ปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นใน ค.ศ. 1953 และแก้ไขเพิ่มเติมใน ค.ศ. 1967, 1976, 1980, 1990 และล่าสุด ค.ศ. 2000 INCOTERMS ฉบับปัจจุบันเรียกว่า INCOTERMS 2000 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม   ค.ศ. 2000
   วัตถุประสงค์ของหอการค้านานาชาติในการรวบรวมและตีพิมพ์ INCOTERMS ก็เพื่อสนับสนุนให้นักธุรกิจระหว่างประเทศระบุข้อตกลงทางการค้านี้ในสัญญาและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ เพื่อที่จะนำแนวปฏิบัติหรือธรรมเนียมทางการค้าระหว่างประเทศให้เป็นมาตรฐาน หรือให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  อันเป็นการลดอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจากปัญหาการตีความข้อตกลงทางการค้าแตกต่างกันในแต่ละประเทศ
   INCOTERMS 2000 ประกอบด้วยข้อตกลงทั้งสิ้น 13 ข้อตกลง แบ่งเป็น 4 กลุ่มเพื่อกำหนดภาระหน้าที่ของผู้ซื้อและผู้ขายเรียงลำดับภาระหน้าที่ของผู้ขายจากน้อยไปหามากขณะที่ภาระหน้าที่ของผู้ซื้อเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้

   Group E   Departure
      EXW Ex Works (…named place)

   Group F   Main carriage unpaid
      FCA Free Carrier (…named place)
      FAS Free Alongside Ship (…named port of shipment)
      FOB Free On Board (…named port of shipment)

   Group C   Main Carriage Paid
      CFR Cost and Freight (…named port of destination)
                          CIF Cost, Insurance and Freight (…named port of destination)
      CPT Carriage Paid to (…named place of destination)
      CIP Carriage and Insurance Paid to (…named place of destination)

Group D      Arrival
      DAF Delivered At Frontier (…named place)
      DES Devivered Ex Ship (…named port of destination)
      DEQ Delivered Ex Quay (…named port of destination      
      DDU Delivered Duty Unpaid (…named place of destination)
      DDP Delivered Duty Paid (…named place of destination)

   ทั้งนี้ ข้อตกลงในกลุ่ม E (Group E) เป็นกลุ่มที่ผู้ขายจะส่งมอบสินค้า ณ สถานที่ของผู้ขายเอง โดยที่ค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงแห่งภัยเนื่องจากการขนส่งสินค้าออกจากสถานที่ดังกล่าวตกเป็นภาระของผู้ซื้อทั้งหมด ความเสี่ยงแห่งภัยพิบัติผ่านจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ณ จุดส่งมอบที่สถานที่หรือโรงงานของผู้ขาย
   ข้อตกลงในหลุ่ม F (Group F) เป็นกลุ่มที่ผู้ขายจะส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่ง (carrier) ณ สถานที่ที่ระบุไว้ หรือส่งมอบสินค้าลงเรือของผู้ขนส่ง หลังจากจุดที่ส่งมอบนี้ ค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงแห่งภัยใด ๆ ในการส่งสินค้าจะตกเป็นภาระของผู้ซื้อ กรณี FCA ความเสี่ยงแห่งภัยพิบัติผ่านจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ณ จุดที่ส่งมอบสินค้าให้ผู้ขนส่งรายแรก กรณี FAS ผ่าน ณ จุดที่ส่งมอบสินค้าไว้ข้างเรือ กรณี FOB ผ่าน ณ จุดที่ส่งมอบสินค้าจนผ่านพ้นกราบเรือ
   ข้อตกลงในกลุ่ม C (Group C) เป็นกลุ่มที่ผู้ขายจะส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่ง ณ สถานที่ที่ระบุไว้ หรือส่งมอบสินค้าลงเรือของผู้ขนส่ง เช่นเดียวกับในกลุ่ม F แต่ผู้ขายรับภาระในการชำระค่าขนส่งหลักได้แก่ ค่าระวางขนส่งจนถึงปลายทาง บางข้อตกลงผู้ขายยังต้องทำและจ่ายค่าประกันภัยสินค้าทางทะเลด้วย แต่สำหรับความเสี่ยงแห่งภัยพิบัตินั้นจะผ่านไปยังผู้ซื้อ ณ จุดที่ผู้ขายส่งมอบสินค้าเช่นเดียวกับในกลุ่ม F โดยกรณี CFR และ CIF ความเสี่ยงแห่งภัยพิบัติจะผ่าน ณ จุดที่ส่งมอบสินค้าจนผ่านพ้นกราบเรือ ส่วนกรณี CPT และ CIP ความเสี่ยงแห่งภัยพิบัติจะผ่าน ณ จุดที่ส่งมอบสินค้าให้ผู้ขนส่งรายแรก
   ข้อตกลงในกลุ่ม D (Group D) เป็นกลุ่มที่ผู้ขายมีภาระความรับผิดชอบมากที่สุดโดยรับผิดชอบส่งมอบสินค้าจนถึงสถานที่ปลายทางที่ระบุไว้ ซึ่งอาจเป็นเขตแดน (border) ท่าเรือปลายทางหรือจุดที่ระบุไว้ ณ ประเทศปลายทาง ผู้ขายต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และความเสี่ยงแห่งภัยจากสถานที่ของผู้ขายจนถึงจุดปลายทางที่ส่งมอบสินค้า กลุ่มนี้จึงเน้นการดูแลส่งมอบสินค้าจนถึงจุดปลายทาง โดยกรณี DAF ความเสี่ยงแห่งภัยพิบัติจะผ่าน ณ จุดที่ส่งมอบสินค้าที่ชายแดนของประเทศที่ตกลงกัน กรณี DES ผ่าน ณ จุดที่ส่งมอบสินค้าที่ท่าเรือปลายทาง กรณี DEQ ผ่าน ณ จุดที่นำสินค้าขึ้น จากเรือที่ท่าเรือปลายทาง ส่วน DDU และ DDP ผ่าน ณ จุดที่ส่งมอบสินค้าที่สถานที่ที่ระบุปลายทาง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น